วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยหมดสติ



        การปฐมพยาบาล หมายถึง การช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับผู้ได้รับ อุบัติเหตุ บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยอย่างกะทันหัน ณ สถานที่เกิดเหตุ ก่อนที่จะไปหาหมอหรือก่อนที่หมอจะมา ซึ่งการปฐมพยาบาลนั้น สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยหรือผู้ประสบอุบัติเหตุ โดยใช้วัสดุรอบๆตัว เท่าที่หาได้ให้คืนสภาพโดยเร็วหรือไม่ให้มีสภาพที่เลวร้ายลงไป เนื้อหาในบทเรียนประกอบด้วย




หลักการทั่วไปในการปฐมพยาบาล
1. เมื่อพบผู้บาดเจ็บที่มีเลือดออก ควรห้ามเลือด
2. ถ้าผู้บาดเจ็บไม่มีเลือดออก ควรตรวจว่าร่างกายอบอุ่นหรือไม่ มีอาการช็อคตัวเย็นซีดหรือไม่ ควรห่มผ้าให้อบอุ่น หนุนลำตัวให้สูงกว่าศีรษะเล็กน้อย
3. ควรตรวจว่าผู้ป่วยมีสิ่งของในปากหรือไม่ เช่น เศษอาหาร ฟันปลอม ถ้ามีให้รีบล้วงออก เพื่อ ไม่ให้ทางเดินหายใจอุดตันหรือสำลักเข้าปอด   
4. ควรตรวจลมหายใจของผู้บาดเจ็บว่าติดขัดหรือหยุดหายใจหรือไม่ ถ้ามีควรผายปอดและควรตรวจคลำชีพจร ของเส้นเลือดใหญ่บริเวณ ข้างลำคอ ถ้าพบว่ามีการเต้นจังหวะเบามากให้รีบนวดหัวใจด้วยวิธีกดหน้าอก
5. ควรตรวจร่างกายว่ามีส่วนใดมีบาดแผล รอยฟกช้ำ กระดูกหักหรือ เข้าเคลื่อนหรือไม่ หากพบสิ่งผิดปกติ ให้ปฐมพยาบาล เช่น ปิดบาด แผล ห้ามเลือด เป็นต้น
6. ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บโดยไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องเคลื่อน ย้ายควรทำให้ถูกวิธี
7. ควรคลายเสื้อผ้าให้หลวม
8. ควรห้ามคนมามุงดู เพราะจะทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ต้อง ให้มีอากาศโปร่ง และมีแสงสว่าง เพียงพอ
9. ให้มีคนดูแลผู้บาดเจ็บตลอดเวลาก่อนนำส่งแพทย์


การปฐมพยาบาลผู้ป่วยหมดสติ

   1. เมื่อผู้ป่วยหยุดหายใจ และชีพจรหยุดเต้น
        ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที จากนั้นให้ดำเนินการปฐมพยาบาลเบื้องต้น   โดยทำการช่วยหายใจ โดยวิธี CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) ด้วยการปั๊มหัวใจและผายปอด (Mouth-to-Mouth) ให้แก่ผู้บาดเจ็บ ซึ่งจะช่วยให้เลือดได้รับออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นและมีการไหลเวียนเข้าสู่สมองและอวัยวะสำคัญอื่นๆ  ก่อนที่จะถึงมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ในกรณีที่ศีรษะ ลำคอหรือหลังของผู้บาดเจ็บได้รับการบาดเจ็บด้วยผู้ให้การปฐมพยาบาลจะต้องระมัดระวังไม่ให้ศีรษะ ลำคอหรือหลังของผู้บาดเจ็บมีการเคลื่อนไหว   ซึ่งทำได้โดยดึงขากรรไกรล่างหรือคางของผู้บาดเจ็บไปข้างหน้าเพื่อเปิดทางให้อากาศเดินทางเข้าได้สะดวก


    2. เมื่อผู้ป่วยหยุดหายใจ แต่ชีพจรยังคงเต้นอยู่      
     ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที จากนั้นให้ดำเนินการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยทำการผายปอดเพื่อช่วยให้ออกซิเจนไหลเข้าไปที่ปอดของผู้บาดเจ็บและให้ปฏิบัติเช่นนี้ไปจนกระทั่งผู้บาดเจ็บสามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง หรือจนกว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเดินทางมาถึง ทั้งนี้ ต้องควบคุมศีรษะ ลำคอหรือหลังของผู้บาดเจ็บให้ไม่มีการเคลื่อนไหวเช่นกัน
    3. เมื่อผู้ป่วยมีการบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือลำคอ
       ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที  จากนั้นให้ดำเนินการปฐมพยาบาลเบื้องต้น  โดยให้ดำเนินการตามวิธีการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บที่ศีรษะ   และลำคอ/หลัง
     4. เมื่อผู้ป่วยมีเลือดออกเป็นจำนวนมาก
        ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันทีจากนั้นให้ดำเนินการปฐมพยาบาลเบื้องต้น  โดยให้ดำเนินการตามวิธีการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บที่มีเลือดออกหรือการห้ามเลือด
    5. เมื่อผู้ป่วยมีอาการต่อไปนี้ก่อนการหมดสติ (อาการของปฏิกิริยาตอบสนองต่ออินซูลิน               หรือปริมาณน้ำตาลในเลือดต่ำ)
                    - ควบคุมร่างกายไม่ได้
                    - โกรธง่าย อารมณ์ฉุนเฉียวตลอดเวลา
                    - สับสน มึนงง
                    - ร่างกายซีดเผือด
                    - เหงื่อออกมาก
                    - ตัวสั่น ใจสั่น
                    - เป็นลม ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที จากนั้นให้ดำเนินการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดย
                    - นำน้ำตาลปริมาณหนึ่งวางไว้ใต้ลิ้นของผู้ป่วย จากนั้นตรวจดูว่าในกระเป๋าของผู้ป่วยมียาหรือวัตถุให้ความหวานหรือไม่ ซึ่งผู้ป่วยอาจเก็บสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน และถ้ามี ให้นำไปใส่ไว้ใต้ลิ้นของผู้ป่วย          
                    - ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกมากที่สุด
                    - ให้ผู้ป่วยนอนตะแคง
                    - ห้ามให้ดื่มน้ำหรือของเหลวใดๆ  ทั้งสิ้น

 6. เมื่อผู้ป่วยมีอาการต่อไปนี้                         
          ซึ่งเป็นสัญญาณของการหมดสติจากโรคเบาหวาน
                   - ชีพจรเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ
                   - หายใจถี่และลึก
                   - ตัวอุ่น ผิวแห้งและมีสีแดงเรื่อ
                   - ได้กลิ่นต่างๆ คล้ายผลไม้ เช่น น้ำองุ่น หรือ คล้ายน้ำยาล้างเล็บ (อาซิโตน)
                   - อาเจียน
          ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที หรือนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
     7. เมื่อผู้ป่วยถูกแมลงหรือสัตว์กัดต่อย    
         ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันทีจากนั้นให้ดำเนินการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้ดูว่าผู้บาดเจ็บได้รับการกัดหรือต่อยโดยแมลงหรือสัตว์ชนิดใด ตลอดจนดูลักษณะของบาดแผลที่เกิดขึ้น  โดยให้ดำเนินตามวิธีการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บที่ถูกแมลงกัดหรือต่อย           
     8. เมื่อเขย่าตัวผู้ป่วยเป็นเวลา 2 นาทีแล้วผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัวหรือไม่มีการตอบรับใดๆแต่ยังมีการหายใจอยู่ และผู้ป่วยไม่ได้บาดเจ็บรุนแรง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที  จากนั้นให้ดำเนินการปฐมพยาบาลเบื้องต้น  โดยจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่หายใจได้สะดวกมากที่สุด  (Recovery Position) 



สามารถดูเพิ่มเติมในคลิปวิดีโอได้นะคะ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น